เรียกได้ว่าอาหารเสริมโปรตีนกับการเล่นกล้ามเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ แต่หนุ่มนักกล้ามหน้าใหม่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าควรเลือกกินอาหารเสริมโปรตีนแบบไหน จึงจะส่งผลดีที่สุดต่อตัวเอง วันนี้เราจึงหยิบเรื่องราวน่ารู้ในการเลือกซื้ออาหารเสริมโปรตีนมาแนะนำกันครับ
- อาหารเสริมโปรตีนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1.1 โปรตีนแบบ Concentrates ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และแร่ธาตุต่าง ๆ
1.2 โปรตีนแบบ Isolates จะมีปริมาณของโปรตีนมากถึง 85-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
1.3 โปรตีนแบบ Hydrolyzed หรือ Hydrolysates เป็นโปรตีนที่ผ่านกระบวนการพิเศษที่เรียกว่า Hydrolyzed ทำให้โปรตีนย่อยสลายได้ง่ายกว่า 2 แบบแรก ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเปปไทด์และกรดอะมิโนที่สำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อ
- ความแตกต่างระหว่างเวย์โปรตีนและเคซีนโปรตีน
เวย์โปรตีน (Whey Protein) เป็นอาหารเสริมโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีปริมาณของนมวัวอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของกรดอะมิโน BCAA ธรรมชาติที่ย่อยได้ไวและสร้างกล้ามได้เร็ว เวย์โปรตีนจึงเป็นอาหารเสริมยอดนิยมในหมู่คนเล่นกล้าม ขณะที่คาเซอินโปรตีน (Casein Protein) เป็นอาหารเสริมที่ทำจากนมเช่นเดียวกัน แม้ว่าคาเซอินโปรตีนจะไม่มีคุณสมบัติในการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเหมือนเวย์โปรตีน แต่ก็อุดมไปด้วยกรดอะมิโน BCAA และกลูตามีน ที่ย่อยได้ช้า แต่ช่วยป้องกันไม่ให้มวลกล้ามเนื้อสลายตัว เป็นโปรตีนที่ควรกินก่อนนอน
- แมสเกนเนอร์ ให้แคลอรีต่างจากเวย์โปรตีน
แมสเกนเนอร์ (Mass Gainer) เป็นอาหารเสริมโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ให้แคลอรีจากแหล่งต่าง ๆ เช่น โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, น้ำตาล และไขมัน ซึ่งต่างจากเวย์โปรตีน เพราะแคลอรีจะมาจากโปรตีนเท่านั้น จึงช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดี ส่วนการกินแมสเกนเนอร์จะทำให้คุณมีน้ำหนักตัวมากขึ้นแทนกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ อาหารเสริมโปรตีนที่ดีควรมีคาร์โบไฮเดรตกับไขมันประมาณ 1-5 กรัม และมีโปรตีนอยู่ที่ 22-30 กรัม
- ควรกินอาหารเสริมโปรตีนให้สอดคล้องกับการออกกำลังกาย
การกินอาหารเสริมโปรตีนโดยไม่รู้ปริมาณที่เหมาะสม จะไม่ทำให้คุณมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นแน่นอน แถมเป็นการเสียของโดยเปล่าประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ ดร.คาเรน รีด นักโภชนากร บอกว่าคนทั่วไปควรกินโปรตีนประมาณ 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากคุณหนัก 75 กิโลกรัม ควรกินโปรตีน 60 กรัม ส่วนคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แนะนำให้กินโปรตีนประมาณ 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในทุก ๆ วัน เท่ากับว่าคุณต้องกินโปรตีน 150 กรัม ถ้ามีน้ำหนักที่ 75 กิโลกรัม เพราะร่างกายต้องการโปรตีนไปเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง
- ระวังอาหารเสริมโปรตีนของปลอมและอย่าหลงเชื่อกับคำโฆษณาเกินจริง
หากพบเจอโฆษณาของอาหารเสริมโปรตีนตัวไหนที่ประมาณว่ามีคุณสมบัติช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงแบบทันท่วงทีละก็ อย่าเพิ่งเลือกเวย์โปรตีนตัวนั้นตามคำโฆษณาล่ะ เพราะไม่มีอาหารเสริมโปรตีนที่ทำกล้ามเนื้อล่ำได้ในชั่วพริบตาหรอก ไม่เพียงเท่านี้ ต้องระวังของปลอมด้วย โดยก่อนซื้ออาหารเสริมโปรตีน แนะนำให้ปรึกษาคนที่เคยซื้อมาก่อน ก็น่าจะช่วยป้องกันของปลอมได้ไม่มากก็น้อย
- โปรตีนแท่ง เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย
โปรตีนแท่ง คืออาหารเสริมโปรตีนอีกรูปแบบหนึ่งที่สะดวกต่อการพกพาและสามารถกินได้ทันทีโดยไม่ต้องชงให้เสียเวลา แถมมีหลายรสชาติให้เลือกด้วย แต่โปรตีนแท่งส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับน้ำตาลค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น ควรเลือกกินโปรตีนแท่งที่มีน้ำตาลน้อยดีกว่า
ใครที่กำลังมองหาอาหารเสริมโปรตีนมากินอยู่ละก็ ลองศึกษาหาข้อมูลให้รายละเอียดก่อนตัดสินใจซื้ออีกที เพราะราคาไม่ใช่ถูก ๆ แถมยังต้องระวังผลข้างเคียงด้วย ที่สำคัญ ยังไงคุณก็ยังคงต้องออกกำลังและทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
ข้อมูลจาก http://men.kapook.com/view145391.html